เทคนิคเล็กๆ น้อยๆ ในงานสิ่งพิมพ์
เรื่องเล็กๆ เหล่านี้ เป็นสิ่งที่นักออกแบบมักจะรู้กันอยู่บ้าง เว้นแต่บางคนที่อาจไม่มีประสบการณ์ทำงานลักษณะนั้น ก็อาจไม่รู้มาก่อนก็ได้ รวมถึงฝั่งของลูกค้าที่อาจนึกภาพตามไม่ออก ดังนั้น ผมจึงจะลองรวบรวมเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ในการทำงานกราฟิกแนวสิ่งพิมพ์เอามาให้ดูกันครับ เอาไว้ระลึกถึงยามส่งอาร์ตเวิร์คก็ได้ หรือถ้าฝั่งลูกค้า ก็เอาไว้ทำความเข้าใจกับเทคนิคเล็กๆ น้อยเหล่านี้ไว้ครับ เป็นประสบการณ์เท่าที่ผมรู้มาจากการทำงานสายนี้มาพอสมควร อย่าถามนะครับ ว่าเท่าไหร่ 555 ไม่อยากให้ใครเรียกลุง ไว้คราวหน้ามีเพิ่มเติมค่อยทำใหม่เรื่อยๆ ครับ
การทำสิ่งพิมพ์แนวหนังสือ หรือคล้ายหนังสือ ที่มีการเย็บเล่มแบบเย็บแม็ก ยิ่งเล่มที่มีจำนวนหน้ามาก เล่มหนา ความจริงแล้ว ขนาดของแต่ละหน้า จะไม่เท่ากันนะครับ โดยด้านนอกสุด (ปกหน้า-หลัง) จะมีขนาดความกว้างมากกว่าด้านในสุด บางเล่มก็กว้างกว่าไม่เท่าไหร่ แต่บางเล่มก็กว้างกว่าพอสมควร
เมื่อเย็บเล่มเสร็จ ก็จะเอาเล่มนั้นมาตัดเจียนให้ปลายกระดาษเสมอกัน จึงทำให้ความกว้างของแต่ละหน้าจะไม่เท่ากัน (ดูจากรูปลายเส้นสีดำ จะพอนึกภาพออก) ดังนั้น การตั้งค่า margin โดยคำนึงถึงเงื่อนไขนี้ ก็มีส่วนสำคัญครับ เพราะหากหนังสือมีเล่มหนามาก ขนาดของหน้ากระดาษ อาจแตกต่างกันหลายมิลลิเมตรได้ โดยปกติแล้ว การทำงานออกแบบสิ่งพิมพ์ ผมมักตั้งค่า margin ไว้อย่างน้อย 5 มม. แต่หากเป็นหนังสือเล่มหนา ผมอาจต้องเว้นมากกว่านั้น เพราะหากการเจียน ต้องเจียนที่ margin 5 มม. จากปกหน้า อาจหมายความว่า margin ของแผ่นด้านใน อาจเหลือแค่ 2-3 มม.ก็ได้ครับ ดังนั้น การวางข้อความ หรือสารสำคัญ ควรเว้นเข้ามามากกว่า 5 มม ด้วยซ้ำ เพื่อป้องกัน text หรือสารสำคัญอยู่ชิดขอบมากเกินไป แม้จะไม่โดนเจียนตัดออก แต่ก็ไม่สวยงาม
เมื่อพูดถึงค่า margin ของฝั่งขอบ ก็ต้องพูดถึงของฝั่งด้านในไปด้วย หากด้านในเป็นการเย็บเล่มที่ค่อนข้างหนา หรือเป็นการเข้าเล่มแบบไสกาว หนังสือเราจะเปิดได้ไม่เต็มหน้ากระดาษที่ตั้งมาได้นะครับ อาจเกิดจากการเบียดกันแน่น หรือเป็นตำแหน่งทากาว ดังนั้น ควรเว้นระยะปลอดภัยของด้านกลาง ที่ติดกับการเย็บแม็กซ์หรือทากาว อาจจะอย่างน้อย 1.5 ซม ก็จะทำให้อ่านงาน สบายตา และปลอดภัยการการทากาวได้แน่นอนครับ
การออกแบบแพคเกจที่มักใช้กระดาษเนื้อหนา หรือบางครั้งก็ทำแบบจั่วปัง (กระดาษแข็งแบบชานอ้อยสอดไส้ และหุ้มด้วยกระดาษปอนด์ หรืออาร์ต เพื่อพิมพ์ลายอีกชั้น) จะมีความหนาประมาณ 2 มม. ขึ้นไป หากในไฟล์เราทำขนาดกล่องไว้พอดีกับสินค้า เมื่อตัดทำจั่วปัง ความหนาของมันจะกินพื้นที่เข้ามาด้านในและออกไปด้านนอกอีกอย่างน้อยฝั่งละ 1-2 มม. หากเขาทำแพคเกจให้พอดีเกินไป ก็อาจแน่นกล่องจนไม่สามารถใส่สินค้าเข้าไปได้ ดังนั้น หากทำแพคเกจแนวนี้ อาจต้องเผื่อขนาดออกไปมากกว่าจริงซัก 3-5 มม. ก็จะปลอดภัยกว่าครับ
การออกแบบแผ่นพับ ที่มีการพับม้วนเข้าด้านในความกว้างของแผ่นที่อยู่ด้านในสุด ก็จะต้องเล็กกว่าด้านนอกอย่างน้อย 2-3 มม. ครับ ไม่เช่นนั้น เวลาพับแล้วจะทำให้ปลายด้านในโดนตำแหน่งพับได้ สมมุติว่า เราทำโบรชัวร์ขนาด A4 () 21×29.7 ซม. แนวนอน) เป็น 3 พับ เราจะแบ่งความกว้างของแต่ละช่องเป็น 1= 10 ซม., 2 = 10 ซม. และ 3 = 9.7 ซม. เพื่อให้ช่องที่ 3 สามารถถูกพับเก็บเข้าด้านในได้อย่างเรียบร้อยสวยงามได้
การพับในแนวอื่นๆ ก็เช่นกัน หากมีการพับซ้อนกัน จนมีแผ่นใดแผ่นหนึ่งหรือมากกว่านั้นถูกซ่อนไว้ด้านใน ก็ควรต้องลดขนาดลงไปแบบนี้เช่นกันครับ และหากมีการพับหลายชั้น แต่ละชั้น ก็ควรลดขนาดลดหลั่นลงไปอีกด้วย
บางครั้ง หากเราทำงาน 4 สี เราจะพบว่า สีดำ ที่เกิดจากการใช้สีดำเพียงสีเดียว (black 100) จะดำน้อยกว่าสีดำที่มีส่วนผสมของสีอื่นลงไปด้วย เช่น สีดำ 100 บวก สีฟ้า 40 สีดำที่ได้ ก็จะมีความหนาแน่นของเนื้อสีมากขึ้น และดำสนิทขึ้นครับ ยิ่งหากเราพิมพ์สีลงบนกระดาษที่มีคุณสมบัติดูดซับสีมากเป็นพิเศษ ก็อาจจะมองเห็นได้ชัดเจนครับ ควรผสมสีอื่นลงไปด้วยในเนื้อสีดำสนิทนั้น
นักออกแบบสมัยใหม่บางคน มักทำไฟล์ให้ง่ายเข้าไว้ หากเป็นงานที่มีรูปภาพและ text อยู่นิดหน่อย ก็มักจะเข้าไปทำ text ใน Photoshop ไปเลยเพื่อความสะดวก แต่หากเราจะส่องกล้องมอง หรือบางครั้ง เราอาจมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า จะเห็นว่า ตัวหนังสือที่พิมพ์ลงไป และถูกรวมให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาพไปแล้วใน Photoshop มักมีขอบของตัวอักษรที่ไม่คมเท่าการนำไฟล์ภาพนั้น ไปสร้างตัวอักษรใน Illustrator ที่จะได้ความคมชัดแบบ 100%