ผมรวบความข้อควรรู้ สำหรับใครที่มีสินค้าหรือบริการ และคิดจะทำโบรชัวร์นำเสนอสินค้านั้นๆ ครับ เพื่อทำให้คุณทำงานกับนักออกแบบได้ง่ายขึ้น มาดูกันเลยครับ
1. จะขายอะไร
สิ่งสำคัญของสิ่งพิมพ์ หรือสื่อโฆษณา คือ สินค้าที่จะขาย สินค้านั้นคืออะไร สิ่งของ, อาหาร, เครื่องใช้ หรืออาจะเป็นบริการ เช่น ร้านนวด, คลินิคทำฟัน, สปา เมื่อเรารู้ว่า สินค้าจะขายอะไร ก็ต้องหาจุดเด่นของสินค้ามานำเสนอ หากสินค้านั้น มีจุดเด่นที่แตกต่างจากของคู่แข่งอยู่แล้ว ก็ง่ายที่จะหาจุดนำเสนอ แต่หากสินค้าเป็นแบบทั่วๆ ไป ไม่มีจุดไหนที่ดีไปกว่าคู่แข่ง การออกแบบก็อาจจำเป็นต้องสร้างจุดเด่นนั้นให้กับสินค้านั้นๆ เช่น หน้าตา หรือการสร้างคอนเซ็ปท์เพิ่มเติมให้กับสินค้านั้นไป
2. กำหนดรูปแบบ
รูปแบบของโปรชัวร์ สามารถทำได้หลากหลายแนวทาง ทั้งแบบทั่วไปราคาประหยัด ที่ต้องดูขนาด (อาจใช้จำนวนพิมพ์ที่ต้องการเพื่อเลือกว่า ควรพิมพ์ลงด้วยขนาดตัด 2, ตัด 4 หรือขนาดอื่นๆ (ตัวอย่างคือขนาดของแท่นพิมพ์ที่มีหลายขนาด) เพราะขนาดของแท่นพิมพ์ มีผลต่อการทำเพลท และมีผลต่อราคา เมื่อนำราคาเพลทมาหารด้วยจำนวนพิมพ์)) เทคนิคการพิมพ์ (การเคลือบยูวี, เคลือบด้าน, เคลือบเฉพาะจุด, การพิมพ์สีพิเศษ, การ Diecut, การประกอบ) ชนิดกระดาษ (กระดาษสำหรับพิมพ์งาน มีให้เลือกมากมายหลายรูปแบบ หลายราคา และต้องเลือกความหนาที่ต้องการด้วย ซึ่งเป็นราคาที่สร้างให้ราคาทุนถูกหรือแพงได้ชัดเจนที่สุด) หรือต้องการงานที่หรูหราราคาแพง ก้อาจต้องมองข้ามเรื่องราคา ไปหาเทคนิคการพิมพ์ที่สูงขึ้น กระดาษที่ดีกว่า หรือการพับ ที่ดูแตกต่างออกไปกว่า
3. การออกแบบ
เมื่อเราทราบจุดขาย หรือกำหนดจุดขายให้กับสินค้า ทิศทางการออกแบบนั้น ก็ควรบ่งชี้ไปที่จุดขายนั้น และให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก บางครั้ง จุดขายหรือความต้องการที่จะนำเสนออาจมีหลายจุด หลายหัวข้อ อาจต้องเรียงความสำคัญเป็น 1, 2, 3 ให้ได้ก่อน เพื่อการนำเสนอที่เป็นเอกภาพ และนำจุดขายหรือการนำเสนอเรื่องอื่นๆ เป็นตัวรองลงมา แม้แต่การออกแบบบางสินค้า ที่มีสินค้าหลายชิ้นในนั้น ก็อาจต้องเรีบงลำดับความสำคัญไล่เรียงกันมา
เทคนิคอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งมักเป้นที่ถกเถียงกันระหว่างนักออกแบบและลูกค้าคือ การให้ความสำคัญกับจุดเด่น โดยความต้องการที่จะอยากให้ทุกจุด เช่น ภาพสินค้า, ราคา, ประโยชน์ใช้สอย หรือโปรโมชั่น เด่นให้หมด แต่เมื่อทุกอย่างนั้นเด่นหมด แต่รวมกันอยู่ในหน้าเดียวกัน ต่างก็จะแย่งกัน จนไม่สามารถดึงดูดสายตาให้ผู้อ่านมองได้ว่า อะไรก่อนหรือหลัง
4. เนื้อหา
เมื่อนักออกแบบรู้จักจุดขายแต่ความสำคัญของสิ่งที่ต้องนำเสนอ สิ่งสำคัญต่อมาคือ เนื้อหา ของสารที่ต้องการนำเสนอ แน่นอนว่า คนอ่านมักไม่ชอบอ่านอะไรยาวๆ ยากๆ หรือเป็นศัพท์เฉพาะ (เหมือนที่ผมอธิบายเรื่องเทคนิคการพิมพ์ข้างบน) แต่ต้องการความเข้าใจ ความง่าย และการเห็นภาพสินค้าที่ชัดเจน (หมายถึงเห็นถึงคุณค่าของสินค้า) ดังนั้น หากสินค้าไม่มีข้อมูลทางเทคนิคหรือทางวิชาการที่จำเป็น เนื้อหาก็อาจเป็นเพียงการบรรยายให้เห็นภาพ เห็นประโยชน์ และสร้างความต้องการเท่านั้นก็พอ
5. ให้ภาพเล่าเรื่อง
ภาพสินค้าที่ชัดเจน สวยงาม ผ่านการถ่ายและตกแต่งมาอย่างดี ประกอบกับกราฟิกอื่นๆ ที่เพิ่มเติมลงไปในโบรชัวร์ การเลือกสี เลือก font หรือลวดลายที่เกี่ยวข้อง และสนับสนุนความหมายของสินค้าได้ดี หรือรูปแบบการจัดวางที่สามารถสื่อถึงภาพลักษณ์ของสินค้าได้ ก็จะมีส่วนช่วยให้สินค้าดูดีและน่าซื้อหามากกว่าคำบรรยายทางเทคนิคเสียด้วยซ้ำ (เว้นแต่สินค้าบางประเภท ที่ผู้ซื้อจำเป็นต้องได้รับข้อมูลทางเทคนิค)
6. การปรับเพิ่ม-ลด ตามความควรและความจำเป็น
บางครั้ง สิ่งพิมพ์เพียงชิ้นเดียว อาจไม่สามารถให้ข้อมูลทุกอย่างได้ทั้งหมด ขึ้นอยู่กับจุดประสงค์หลักที่ต้องการ ซึ่งจะต้องนำมาคิดเป็นอันดับแรก สิ่งเหล่านั้น อาจต้องใช้การอธิบายเพิ่มเติม, การสร้างใบเสนอราคา (หากสินค้านั้นมีราคาไม่แน่นอน), หรือการสร้างสิ่งพิมพ์ชนิดอื่นเพิ่มเติมประกอบไปด้วย
7. โอกาสและจังหวะในการสร้างงาน หรือการแพร่กระจายงานออกไป
สินค้าบางชนิด มีจังหวะที่เหมาะสมในการนำเสนอออกสู่ท้องตลาด หากเลือกเวลาที่เหมาะสม ในตลาดอาจมีความต้องการสินค้าชนิดนี้สูง หรือเห็นช่องว่างในตลาดที่ยังไม่มีคู่แข่ง จึงควรเสนอออกไป
สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่เรื่องตายตัวนะครับ งานออกแบบก็เป็นงานศิลปะชนิดนึง ที่เราอาจเพิ่มลดอะไรได้ตามความเหมาะสม และเห็นสมควร แต่เมื่อคุณทราบคร่าวๆ ไว้ในใจแล้วว่า ก่อนคิดจะทำโบรขัวร์หรือสิ่งพิมพ์ใดๆ เพื่อขายสินค้า คุณต้องคิดอะไรไว้บ้าง และต้องเตรียมอะไรไว้บ้าง การจะมีโบรชัวร์หรือสิ่งพิมพ์อื่นๆ ที่ต้องการก็จะเป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
Facebook : facebook.com/we.are.the.choice.you.can.choose
โทร/Line : 0814961751
Messenger : m.me/we.are.the.choice.you.can.choose
Email : dibdsign@gmail.com