เพื่อการใช้งานรูปที่ได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ขนาดและความละเอียดของรูป จึงมีผลให้งานชิ้นนั้นมีความสมบูรณ์หรือข้อบกพร่องได้ หากเราไม่เข้าใจการทำงานของโปรแกรม, การพิมพ์ และปัญหาที่จะพบเจอได้ของไฟล์รูปต้นฉบับ ที่เรานำมาประกอบในงานชิ้นนั้น

การใส่รูปภาพเข้าไปในงานออกแบบกราฟิก เป็นสิ่งที่จะช่วยให้เกิดความสวยงาม การสื่อสารที่ชัดเจน เห็นภาพ และสร้างอารมณ์ร่วมไปกับเนื้อหาได้ รูปภาพที่มีการสื่อสารในแง่ความหมายที่ดี และมีความสวยงาม จึงเป็นส่วนประกอบที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของงานออกแบบกราฟิก (สำหรับโพสต์นี้ ขอพูดโดยยึดหลักการทำงานของการออกแบบกราฟิกสำหรับสิ่งพิมพ์)

โพสต์ก่อน พูดถึงขนาดรูปที่เราดูด้วยตาเปล่าว่ามันเท่ากัน แต่กลับต่างกันเมื่อนำไปใช้จริง เพราะในขนาดที่เท่ากันนั้น แต่ละภาพ (ตัวอย่าง) มี Resolution ที่ต่างกันไป เมื่อนำไฟล์ทั้ง 3 ไปพิมพ์โดยกำหนดให้มีขนาดเท่ากัน ภาพที่จะคมชัดสวยงามที่สุด ก็จะเป็นภาพ C ที่ 300DPI รองลงมาคือภาพ B ที่ 150DPI ซึ่งเราอาจพอสังเกตุได้ว่าภาพมีส่วนผิดปกติไปเล็กน้อย 

ในขณะที่ภาพ A ที่ 72DPI ซึ่งไม่เพียงพอต่อการพิมพ์ระบบออฟเซ็ท เราจะเห็นได้ว่า ภาพนั้นมีความแตกพร่า และทำให้คุณค่าและความสวยงามของภาพสูญเสียไป (ถ้าดูจากงานพิมพ์จริง จะเห็นได้ชัดเจนกว่านี้

ดังนั้น หากจะใช้ภาพที่ได้มาตามคุณภาพของ Resolution ที่มีจริงๆ ของ A, B และ C จึงควรต้องเปลี่ยนขนาดของภาพลงมา โดยการปรับเปลี่ยน Resolution ให้เป็น 300DPI ทั้งหมด และขนาดของภาพก็จะปรับผันผวนตามไป (ในตัวอย่างเป็นการสมมุติตัวเลขขึ้นเท่านั้น เพื่อแสดงให้เห็นความแตกต่าง

เมื่อเปรียบเทียบคุณภาพของการ Output งานโดยมีรูปทั้ง 2 ขนาด การนำรูปที่ความละเอียดต่ำ มาขยายขนาดขึ้นไป ย่อมจะได้ภาพที่แตกและใช้การไม่ได้ ในขณะที่หากเราเลือกใช้ไฟล์ภาพต้นฉบับ มาวางแบบย่อขนาดลง ก็จะยังคงสวยงามและคมชัดได้ดี

ดังนั้น หากต้องการจะใช้รูป ให้ได้ผลลัพท์ที่ดีที่สุด รูปต้นฉบับ ควรมีขนาดใหญ่กว่าหรือเท่ากับขนาดที่ต้องการใช้งานจริง ที่ Resolution 300dpi หรือเล็กกว่าได้เล็กน้อย (ไม่ควรน้อยกว่า 60-75%) และคำว่า รูปต้นฉบับ ก็จะหมายความรวมถึงรูปภาพที่ถ่าย หรือสแกนมา ที่ความละเอียดเท่านั้นจริงๆ ไม่ใช่การนำภาพที่ความละเอียดต่ำมาใส่ความละเอียด (ตัวเลขค่า Resolution) เพิ่มเข้าไปทีหลัง